เส้นทางการลงทุนในหุ้น

เส้นทางการลงทุนในหุ้น

เส้นทางการลงทุนในหุ้น

เส้นทางการลงทุนในหุ้น ขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุุนในตราสารการเงิน ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับตราสารชนิดอื่น ๆ อย่างเงินฝาก หรือตราสารหนี้ แต่อย่าลืมว่า ความเสี่ยงของมันก็สูงที่สุดเช่นกัน

มีหลายคนเดินเข้ามาในตลาดหุ้น แล้วเปลี่ยนฐานะกลายเป็นเศรษฐีได้ ภายในเวลาไม่นาน ขณะเดียวกันตลาดหุ้น ไม่ได้ใจดีกับทุกคน มันทำให้นักลงทุนกลายเป็นคนถังแตกได้เหมือนกันนะ! ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการเลือก “วิธีการลงทุน”

ผมรู้จักหลายคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นเพียงไม่กี่ปี แต่สามารถกลายเป็นเศรษฐีได้ เพราะเขาเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองตั้งแต่แรก แต่ก็มีอีกหลายคนที่อยู่ในตลาดหุ้นมาตั้งนาน ยังสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกยังไม่ได้เลย เพราะยังลงทุนแบบผิดวิธีอยู่

ถ้าเลือกวิธีการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ก็มีโอกาสสูงที่ “หุ้น” จะช่วยเปลี่ยนนักลงทุนธรรมดาให้กลายเป็นเศรษฐี แต่บางคนที่ลงทุนในหุ้นแบบผิดวิธี เงินทั้งหมดก็อาจจะหล่นหายไปกับตลาดหุ้นได้

ใครที่ยังหาแนวทางการลงทุนในหุ้นที่เหมาะสมไม่เจอ วันนี้ผมมีเส้นทางการลงทุนในตลาดหุ้นแบบง่ายๆมาฝาก ใครที่อยากเริ่มต้น และอยากเป็นเศรษฐีด้วยการลงทุนใน “หุ้น” ลองดู 3 เส้นทางที่นำมาฝากกันในวันนี้ได้เลย!!

1. ลงทุนหุ้นแบบนักธุรกิจ คิดแบบเจ้าของกิจการ

“หุ้น” คือ ตราสารที่ให้สิทธิ์กับนักลงทุนในการเป็นเจ้าของกิจการ นักลงทุนจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์ในการออกเสียง และได้รับส่วนแบ่งกำไร หรือที่เรียกว่า “เงินปันผล” รวมถึงสิทธิ์พิเศษอื่นๆในบริษัทที่เป็นเจ้าของ

ดังนั้น นักลงทุนที่เลือกเส้นทางนี้ จะต้องคิดให้เหมือนกับว่าตัวเองเป็น”เจ้าของกิจการ”ที่จะเข้าไปซื้อหุ้น มีแนวคิดแบบนักธุรกิจ ที่จะต้องดูว่าธุรกิจไหนเหมาะกับนักลงทุน มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานในกิจการนั้นมั๊ย? ผลประกอบการเป็นไปในทิศทางที่ดีมากน้อยแค่ไหน? มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างไร? เป็นต้น

แต่จะลงทุนวิธีนี้ ต้องอาศัยการวิเคราะห์กันแบบละเอียด เพื่อเข้าใจในธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นอย่างลึกซึ้ง ต้องอาศัยการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

การวิเคราะห์เชิงปริมาณ คือการวิเคราะห์จากตัวเลขที่งบการเงินของกิจการแสดงออกมา ซึ่งตัวเลขนั้นสามารถบอกความเคลื่อนไหวต่างๆในกิจการได้อย่างดี บริษัทที่ดีควรมีตัวเลขที่สามารถบ่งบอกที่มาที่ไปได้อย่างชัดเจน ไม่มีการปิดบังผู้ถือหุ้น อย่างเช่น การเติบโตของอัตรากำไรขั้นต้น ควรบอกได้ว่าเกิดจากการบริหารต้นทุนหรือยอดขาย มีประสิทธิภาพ อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ยังมีเลขอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่ช่วยนักลงทุนในการวิเคราะห์ความน่าสนใจของหุ้นและกิจการนั้นๆได้ เช่น ROE, ROA, P/E, P/BV, NPM, GPM, D/E ratio เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงมีเยอะกว่านี้มากกกกกก (ก.ไก่หมื่นตัว)

การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เป็นการดูเรื่องราวอื่นๆของบริษัท ที่ไม่ได้แสดงผ่านตัวเลขในงบการเงิน เช่น ความจงรักภักดีของกลุ่มลูกค้า, สินค้าที่จะเข้ามาทดแทน, อำนาจต่อรองของกิจการ, มูลค่าของแบรนด์ และชื่อเสียงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการวิเคราะห์เชิงคุณภาพจะมีเรื่องของอารมณ์และความเชื่อในกิจการนั้นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น กลุ่มบริษัทอาหาร ที่แม้จะมีผลประกอบการดีเด่น แต่แบรนด์สินค้ากลับติดลบในสายตากลุ่มลูกค้าบางคน อะไรประมาณนี้

ซึ่งนักลงทุนที่เลือกเส้นทางนี้ต้องมองการลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก เพราะผลตอบแทนที่จะได้จากเส้นทางนี้คือ “เงินปันผล” เป็นหลัก ส่วน “Capital gain” หรือ การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเป็นโบนัสพิเศษที่นักลงทุนจะได้ (เผลอๆได้มากกว่าที่หวังไว้ซะอีก)

เส้นทางนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มั่นใจว่าตัวเองถึก มีเวลาในการศึกษาธุรกิจ มองทิศทางธุรกิจออก ไม่หวั่นไหวกับความผันผวนของตลาด ถือหุ้นได้ในระยะยาว และนักลงทุนต้นแบบของเส้นทางนี้ได้แก่ วอเรนต์ บัฟเฟตต์, ชาร์ลี มังเจอร์, เบนจามิน เกรแฮม, ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร และ คุณกวี ชูกิจเกษม เป็นต้น

ส่วนการเลือกซื้อหุ้นมีหลายวิธี จะใช้การประเมินมูลค่าหุ้นในการซื้อ เพื่อเลือกราคาที่เหมาะสม หรือ จะซื้อเฉลี่ยต้นทุนแบบ DCA ก็ได้

2. ค้าขายตามจังหวะ ทำกำไรจากราคาหุ้น

ถ้าเส้นทางแรกเราเรียกพวกเขาว่า”นักลงทุน” งั้นเรียกคนที่เหมาะกับเส้นทางนี้ว่า “นักเก็งกำไร” คงจะเหมาะสมมากกว่า

เพราะหุ้นมีการซื้อขายเกือบทุกวัน และราคาของมันก็เป็นไปตามกฏของ Demand/Supply ในตลาดหุ้น หุ้นแต่ละตัวจะมีการเคลื่อนไหวของราคาตามสภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสารต่างๆของหุ้น ซึ่งนักเก็งกำไรจะซื้อขายตาม ข้อมูลที่ได้รับมา

เครื่องมือของนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนแนวเทคนิค คือ “กราฟหุ้น” ที่นิยมใช้กันจะเป็นกราฟแท่งเทียน เมื่อนำกราฟมาดูจะพบว่า หลายๆครั้งการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะมีรูปแบบเดิมๆ และนักเก็งกำไรเชื่อว่าหุ้นจะเคลื่อนไหวแบบเดิมเป็นวัฏจักร

เพราะข้อมูลข่าวสารทั้งหมดในตลาด ทั้งข่าวดี ข่าวร้าย การประกาศผลการดำเนินงาน/ จ่ายเงินปันผล จะถูกซึมซับและแปรเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของราคา ที่แสดงในกราฟหุ้นเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นนักเก็งกำไรจะใช้กราฟเพื่อการซื้อขาย ดูปริมาณการซื้อขาย ดูแนวรับ/แนวต้าน อีกทั้งยังมี Indicator ต่างๆที่พลอตออกมาจากตัวเลข แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ของตลาด จังหวะในการซื้อหรือขาย อย่างเช่น MACD, RSI, Bolinger band, Slow Stochastic เป็นต้น

ซึ่งแนวทางในการดูกราฟก็จะมีหลายวิธี แล้วแต่ความถนัดของนักเก็งกำไรแต่ละคน

ผลตอบแทนที่ได้จะมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นเป็นหลัก ซึ่งความเสี่ยงในการเก็งกำไรจะมีมากกว่าเส้นทางแรกเยอะ เพราะไม่จำเป็นต้องไปดูก็ได้ว่าหุ้นไหนเป็นหุ้นดี ขอแค่มีจังหวะในการซื้อขายก็เพียงพอ ถ้าใครที่ชอบความโลดโผนของราคาหุ้น รับความเสี่ยงได้เยอะ ชอบการเก็งกำไรจะเหมาะกับเส้นทางนี้มากกว่า

ตัวอย่างของนักเก็งกำไรที่ประสบความสำเร็จ ที่เค้าเทรดทุกอย่างที่ขวางหน้า เทรดในเกมส์ที่ตัวเองถนัด ไม่ใช่แค่การเก็งกำไรในหุ้น และมีแนวทางให้ศึกษา คือ George Soros, Jim Rogers และ Jesse Livermore เป็นต้น

3. วางเงินผ่านกองทุนรวมในหุ้น ลงทุนอย่างสบายใจ

สำหรับคนที่ไม่มีเวลาศึกษากิจการ กราฟราคา หรือไม่ถนัดในการวิเคราะห์ แต่อยากลงทุนในหุ้น เพราะคิดว่าผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากแน่นอน

การลงทุนผ่าน “กองทุนรวม” ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นเป็นหลัก จะดีกว่าลงทุนในหุ้นด้วยตัวเองโดยตรง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญคอยบริหารเงินลงทุนให้ และแน่นอนว่าจะต้องมีค่าธรรมเนียม แลกเปลี่ยนกับการดูแลเงินให้เป็นธรรมดา

หน้าที่ของนักลงทุนคือการศึกษานโยบายของกองทุน และข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกองทุน ซึ่งสามารถหาได้จาก Fund Fact Sheet ของกองทุนที่สนใจ ไม่ยากเลยเนอะ

ประหยัดเวลา และได้ความสะดวกสบายขึ้นอีกเยอะ แต่บางครั้งผลตอบแทนอาจจะไม่ดีเท่าการลงทุนด้วยตัวเองโดยตรงนะ อ่านเพิ่มเติม 90 วัน ออมเปลี่ยนชีวิต สไตล์โยโกยามะ

บทความอื่น ๆ ได้ที่ : ฟาร์มเฮ้าส์ บริษัทขายขนมปัง ที่ปังกว่าโรงกลั่นน้ำมัน!